จี้ไฝ ติ่งเนื้อ รักษาฝ้า กระ หูด พรีมาดอนนาคลินิก เชียงใหม่

Facebook Instagram ENG | CHA

รักษารอยปานกับพรีมาดอนน่าคลินิก เชียงใหม่


รักษารอยปานกับพรีมาดอนน่าคลินิก

รักษารอยปานกับพรีมาดอนน่าคลินิก

รักษารอยปานกับพรีมาดอนน่าคลินิก

    ปาน (Birthmarks) คือร่องรอยของจุดสีบนผิวหนัง ซึ่งมักปรากฏขึ้นเมื่อแรกคลอดหรือหลังคลอดได้ไม่นาน ปานมีทั้งลักษณะเรียบและนูน ขนาดเล็กและใหญ่ อีกทั้งสีก็แตกต่างกันไป อาจปรากฏอยู่บนผิวหนังตลอดชีวิตหรือค่อย ๆ หายไปเมื่อโตขึ้น แต่กว่ารอยปานจะจางหายไปนั้นใช้ระยะเวลาที่นานหรืออาจจะหายไปเลยด้วยซ้ำ โดยทั่วไปแล้ว ปานนั้นไม่เป็นอันตรายและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่ทำให้ขาดความมั่นใจได้ เมื่อรู้สึกว่าปานทำให้เป็นปัญหาในชีวิต จึงแสวงหาวิธีในการกำจัดออกไป โดยพรีมาดอนน่าคลินิกสถาบันดูแลความงามทั่วเรือนร่าง ขอรวบรวมวิธีการลดเลือนรอยปาน ซึ่งผ่านการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

การรักษาปาน

   ปานบางชนิดเป็นปานที่เกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา สำหรับผู้ที่มีปานชนิดถาวรนั้น หากต้องการให้ปานหายไป สามารถตกแต่งเพื่อปกปิดรอยปาน ส่วนการรักษารอยปานให้หายไปนั้นขึ้นอยู่ว่าผิวหนังที่ปรากฏปานเป็นเนื้อเยื่อบริเวณใด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดศัลยกรรม การยิงเลเซอร์ และการใช้รังสี ทั้งนี้ ปานบางชนิดก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ผู้ที่มีปานจำเป็นต้องได้รับการรักษา ดังนี้

  • ปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) ปานแดงชนิดนี้บางครั้งก็หายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางครั้งก็ไม่หายไปจนกว่าเด็กจะอายุ 5 ปี หรือ 12 ปี การรักษาปานแดงชนิดนี้ประกอบด้วย
    • ศัลยกรรมตกแต่ง หากปานแดงทำให้ผิวหนังผิดรูปหรือย้วย อาจศัลยกรรมเพื่อช่วยรักษาลักษณะผิวหนังที่เสียหายนั้นให้ดีขึ้น ทั้งนี้ หากปานแดงกลายเป็นฝี สามารถผ่าตัดเอาฝีออกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    • การให้ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ส่วนใหญ่แล้ว วิธีรักษาปานแดงชนิดนี้ที่มีประสิทธิภาพคือการรักษาด้วยยา โดยยาโพรพราโนลอลจะช่วยลดขนาดปานให้เล็กลง เพราะยานี้ช่วยให้หลอดเลือดแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ไหลไปเลี้ยงบริเวณที่เกิดปานน้อยลงด้วย จนนำไปสู่ปานแดงที่มีสีอ่อนลง นุ่มขึ้น และเล็กลง
  • ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) การรักษาปานแดงชนิดนี้เพื่อให้ปานแดงลบเลือน การใช้เลเซอร์เป็นเพียงวิธีเดียวที่รักษาปานแดงเส้นเลือดฝอยได้ โดยทำให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดปานอ่อนลง การยิงเลเซอร์จะเห็นผลในเด็กมากกว่า เนื่องจากการยิงเลเซอร์รักษาปานแดงชนิดนี้สำหรับผู้ใหญ่อาจทำให้ปานเป็นหลุมและนูนขึ้นมาหลังผ่านไปหลายปี เพาซ์ดายด์เลเซอร์ (Pulsed Dye Laser) ถือเป็นวิธีรักษาด้วยเลเซอร์ที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์สำหรับยิงเลเซอร์วางบนผิวและกดปุ่มเพื่อยิงเลเซอร์เข้าไปในผิว เลเซอร์จะผ่านเข้าไปในผิวน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร จากนั้นจะซึมเข้าหลอดเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ร้อนขึ้น ซึ่งความร้อนจะทำลายหลอดเลือด หลังจากนั้น แพทย์จะทำให้ผิวหนังเย็นลงเพื่อลดอาการไม่สบายในบริเวณที่ยิงเลเซอร์ อย่างไรก็ตาม การยิงเลเซอร์ก่อให้เกิดผลข้างเคียงบ้าง อาจเกิดรอยช้ำบนผิวซึ่งดูแย่กว่าเดิม แต่รอยช้ำนี้จะหายไปหลัง 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งผิวหนังอาจไหม้แดดได้ง่ายหลังยิงเลเซอร์ ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นหลัง 6 เดือนขึ้นไป
  • ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) เนื่องจากปานดำชนิดนี้ส่งผลต่อรูปลักษณ์ ผู้ที่มีปานอาจรักษาด้วยการศัลยกรรม โดยแพทย์จะผ่าตัดนำปานดำออกไปและเย็บผิวหนังเข้ามาติดกันเหมือนเดิมให้เรียบร้อย หากบริเวณที่ผ่าตัดมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจนำผิวหนังส่วนอื่นมาปะผิวหนังบริเวณดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนของปาน

โดยส่วนใหญ่ ปานแดงและปานดำที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่ปานบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและต้องได้รับการรักษา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนแบ่งได้ตามชนิดของปาน ดังนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนของปานแดง ผู้ที่เกิดปานแดงชนิดปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) และปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
    • ปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากปานแดงชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากปานแดงส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร การหายใจ หรือการมองเห็น จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เด็กที่มีปานแดงบริเวณตา จมูก ปาก หรือก้น มีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อ หากมีเลือดออกต้องกดห้ามเลือดจนกว่าเลือดจะหยุดไหล และหากปานนั้นทำให้เกิดฝี อาจอักเสบและทำให้เจ็บปวดได้ ควรรักษาความสะอาดและปิดแผลให้เรียบร้อย แผลหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับเด็กที่มีปานแดงชนิดนี้มากกว่า 5 จุด อาจมีปานแดงขึ้นภายในร่างกาย ควรได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวด์หรือการทำเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้ ปานแดงที่ขึ้นภายในร่างกายจะทำให้ไอหรือหายใจลำบาก เลือดออกปนมากับอุจจาระ ซึ่งอาการไอและหายใจลำบากเป็นสัญญาณของปานแดงที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ส่วนอาการเลือดออกปนอุจจาระ อาจหมายถึงมีปานแดงที่ลำไส้
    • ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) ผู้ที่มีปานแดงชนิดนี้สามารถเกิดปัญหาสุขภาพซึ่งต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
      • ต้อหิน ปานแดงที่ปรากฏบริเวณด้านบนและด้านล่างของเปลือกตาข้างเดียวกัน นำไปสู่การเกิดต้อหินได้
      • กลุ่มอาการสเตอร์จเวเบอร์ (Sturge-Weber Syndrome) ปานแดงเส้นเลือดฝอยที่ขึ้นทั่วหน้าผากหรือหนังศีรษะและมีขนาดใหญ่มาก มักส่งผลให้มีอาการป่วยตามกลุ่มอาการนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและสมอง
      • การขยายตัวของเนื้อเยื่ออ่อน สำหรับเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอยู่ใต้ผิวหนังที่เกิดปานแดงเส้นเลือดฝอยมักขยายตัวใหญ่ขึ้นผิดปกติ
      • กลุ่มอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดฝอยผิดรูป (Klippel-Trenaunay Syndrome) ผู้ที่มีปานแดงเส้นเลือดฝอยขนาดใหญ่บริเวณแขนขา อาจมีอาการป่วยแบบเดียวกับกลุ่มอาการที่หลอดเลือดฝอยผิดรูปได้
  • ภาวะแทรกซ้อนของปานดำ ผู้ที่มีปานดำชนิดปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) หรือไฝดำนั้น อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับขนาดของปาน หากปานมีขนาดใหญ่มาก ยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังมาก ผู้ที่มีปานดำชนิดนี้จึงควรหมั่นสังเกตว่าปานมีขนาด รูปร่าง หรือสีเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากปานดำมีเลือดออก บวมอักเสบ ระคายเคือง แผลเปิด รู้สึกเจ็บ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจชิ้นเนื้อและวินิจฉัยโรค

    ในบทความดังกล่าวเป็นเพียงวิธีและคำแนะนำเล็กน้อย เพื่อช่วยลดเลือนรอยปาน แต่ไม่ได้เป็นวิธีทั้งหมดที่ช่วยให้รอยปานหายไปทั้งหมด ซึ่งทางพรีมาดอนน่าคลินิกมีเทคนิคและคำแนะนำช่วยในการดูแลรักษารอยปาน รอยแดง รอยดำต่างๆ โดยผ่านการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะให้คำแนะนำและให้บริการกับลูกค้าทุกๆท่าน