อายุน้อยก็เป็นหูดได้!
หูดเกิดจากอะไร อายุน้อยทำไมเป็นหูด ?
หูด (Warts) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย และสามารถพบได้ในทุกเพศ และทุกช่วงของอายุ โดยอัตราการพบสูงสุดจะอยู่ในช่วงอายุ 12-16 ปี ส่วนในผู้ใหญ่ก็อาจพบได้เช่นกัน และจะพบได้น้อยในคนอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป โรคนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นเท่ากัน แต่คนผิวดำและคนเอเชียมีโอกาสเป็นมากกว่าคนผิวขาว แต่ไม่ได้อันตรายมาก เมื่อตรวจพบแล้วก็สามารถรักษาให้เร็วที่สุดและถูกต้องได้
อาการหูด
- หูดชนิดทั่วไป (Common warts) เป็นหูดที่พบได้บ่อยที่สุด มักจะพบในบริเวณ นิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า โดยลักษณะนูนเป็นตุ่มกลมแข็ง ผิวหยาบ ขรุขระ ออกเป็นสีเทา ๆ เหลือง ๆ หรือสีน้ำตาล
- หูดคนตัดเนื้อ (Butcher’s warts) โดยจะพบที่มือ เป็นหูดที่เกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน จึงมักพบได้ในผู้ที่มีอาชีพแล่เนื้อดิบ
- หูดที่ฝ่ามือฝ่าเท้า (Plamar warts and Plantar warts) มีลักษณะเป็นตุ่มกลม นูนเล็กน้อย ผิวขรุขระ จนกระทั่งนูนออกมามาก มีผิวขรุขระ หยาบแข็งกว่าหนังธรรมดา
- หูดชนิดแบนราบ (Plane warts, Flat warts) มีลักษณะนูนขึ้นจากผิวเพียงเล็กน้อย ผิวจึงค่อนข้างเรียบ ซึ่งต่างจากหูดทั่วไปที่มีผิวขรุขระ
- หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) เป็นหูดที่พบที่อวัยวะเพศภายนอกทั้งชายและหญิง มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ลักษณะของหูดจะขึ้นเป็นติ่งเนื้องอกอ่อน ๆ มีสีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวขรุขระ
- หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) หูดชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มกลม ผิวเรียบเป็นมัน ตรงกลางมีรอยบุ๋ม ซึ่งเป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอมซี
วิธีรักษาโรคหูด
- การทายา เป็นยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก กรดแลคติก กรดไตรคลออะซิติก ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา ไม่ควรซื้อยามาทาเอง
- การจี้ด้วยความเย็นจากไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy) หลังจี้แผลอาจพองเป็นตุ่มน้ำ แผลจะค่อย ๆ ยุบแห้งตะสะเก็ดและหายได้เอง แต่อาจต้องจี้หลายครั้งจนกว่าจะหายขาด
- การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการทำลายตุ่มหูดด้วยความร้อน สามารถทำลายหูดได้เด็ดขาดในครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้ง
- การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเอาก้อนหูดออก วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล